สาระสำคัญ ทำบุญวันสารท

สาระสำคัญ ทำบุญวันสารท
สาระสำคัญ ทำบุญวันสารท

วันสารท หรือประเพณีการทำบุญวันสารท เป็นช่วงเวลาที่ถือเป็นคติและมีความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า ญาติทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในช่วงเวลาดังกล่าว และเชื่อว่า หากทำบุญในช่วงเวลานี้เพื่ออุทิศให้ญาติแล้ว ญาติก็จะได้รับส่วนบุญได้อย่างเต็มที่และโอกาสนำไปสู่สุคติได้

อีกประการหนึ่ง ดังที่ทราบกันมา สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลักมาแต่เดิม เมื่อถึงช่วงเดือน 10 ข้าวกล้าในนากำลังงอกงาม ขณะที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงถือโอกาสนี้ทำบุญเพื่อเลี้ยงตอบแทนและขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีพระแม่พระโพสพ หรือผีไร่ ผีนา ผีปู่ย่าตายายที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดีมีผลผลิตที่สมบูรณ์

ช่วงเวลาทำบุญวันสารท

การกำหนดเวลาทำบุญวันสารท อาจจะมีความคลาดเคลื่อนแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามแต่ละท้องถิ่น เป็นต้นว่า
– ภาคกลาง กำหนดทำบุญวันสารทในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
– ภาคใต้ กำหนดทำบุญวันสารทในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันรับตายาย และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันส่งตายาย
– ชาวมอญ กำหนดทำบุญวันสารทวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
ถึงกระนั้น สารทไทยโดยทั่วไปกำหนดในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 โดยนับถัดจากวันสงกรานต์ ตามจันทรคติจนถึงวันสารทจะครบ 6 เดือนโดยประมาณ

ประเพณีปฏิบัติในวันสารท

– ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะเตรียมอาหารคาวหวาน ผลไม้ต่าง ๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น

– ในวันงาน ชาวบ้านจัดแจงนำข้าวปลา อาหารคาวหวาน ผลไม้ไปทำบุญตักบาตรที่วัดในหมู่บ้าน

– อุบาสก อุบาสิกา เข้าวัด สมาทานศีล ฟังธรรม

– ชาวบ้านนำข้าว อาหาร คาวหวาน ขนม ผลไม้ไปฝากซึ่งกันและกันในหมู่ญาติมิตร และบ้านใกล้เรือนเคียง รวมทั้งญาติมิตรที่อยู่ต่างหมู่บ้านด้วย

– บางท้องถิ่นนำอาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ ข้าวดำข้าวแดง ถั่วงา ธัญญาพืชไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย คือเมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ

สาระสำคัญทำบุญวันสารท

1. เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ท่านเหล่านั้นได้อบรมเลี้ยงดูลูกหลานมา ทำการตอบแทนบุญคุณท่าน โดยการบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้

2. เป็นการถือโอกาสปะหมู่ญาติมิตรที่อยู่ต่างถิ่น เป็นการพบปะโดยการทำบุญที่วัด และแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน

3. เป็นการทำบุญในโอกาสที่พืชผักเริ่มออกผลเพราะเชื่อว่าทำให้ได้ผลผลิตดี เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

4. เป็นการแสดงความเคารพต่อใหญ่และผู้ล่วงลับไป อีกทั้งเป็นอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่

5. เป็นการลดความโลภ ขจัดความตระหนี่ออกไป ทำใจให้ผ่องใส

6. เป็นการบำรุงหรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบต่อไป

ที่มา :
www.tungsong.com
www.archive.clib.psu.ac.th

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *