เทศกาลกฐิน

เทศกาลกฐิน
เทศกาลกฐิน

เทศกาลกฐิน

ความหมาย

          คำว่า “กฐิน” มีความหมายเกี่ยวข้องกันถึง ๔ ประการ คือ

๑.  เป็นชื่อของกรอบไม้    อันเป็นแม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่า  สะดึง  ก็ได้

๒. เป็นชื่อของผ้า   ที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวร   ตามแบบหรือกรอบไม้นั้น

๓.  เป็นชื่อของบุญกิริยา   คือการทำบุญ  ในการถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร

๔.  เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศของรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์   ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

กฐินที่เป็นชื่อกรอบไม้

กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร   ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้นั้นเนื่อง จากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนด กระทำได้โดยยาก   จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้   เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม   หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้   ในภาษาไทยนิยมเรียกผ้านุ่งว่า สบง  ผ้าห่มว่า จีวร  ผ้าห่ม

ซ้อนว่า สังฆาฏิ   การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้   คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบแล้วตัดเย็บย้อมทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์   เป็นการร่วมแรมร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้นและ เมื่อทำเสร็จหรือพ้นกำหนดกาลแล้ว  แม่แบบหรือกฐินนั้น   ก็รื้อเก็บไว้ในการทำผ้าเช่นนั้นอีกในปีต่อ ๆ ไป  การรื้อแบบไม้นี้   เรียกว่า เดาะ  ฉะนั้นคำว่า กฐินเดาะ  หรือ เดาะกฐิน   จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า

กฐินที่เป็นชื่อของผ้า

หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล   ๑  เดือน  นับตั้งแต่วันแรม  ๑  ค่ำ   เดือน  ๑๑  ถึงวันขึ้น  ๑๕   ค่ำ  เดือน  ๑๒   ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่   หรือผ้าเทียมใหม่  เช่น ผ้าฟอกสะอาด  หรือผ้าเก่า  หรือผ้าบังสุกุล   คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว   และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้   ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้   เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ถวายแก่สงฆ์แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้

กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา   คือการทำบุญ

คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน   เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่ง   หรือผ้าห่มใหม่   จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด   การทำบุญถวายผ้ากฐิน  หรือที่เรียกว่า   ทอดกฐิน   คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าว

คำถวายในท่ามกลางสงฆ์   เรียกได้ว่าเป็นกาลทาน คือการถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล  ๑  เดือน   ดังกล่าวในกฐินที่เป็นชื่อของผ้า   ถ้าถวายก่อนหน้านั้น   หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน   ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก

เทศกาลกฐิน

กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม

คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์   ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่นขยายเวลาทำจีวรได้อีก   ๔  เดือน  ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า   การทำจีวรทำได้โดยยากไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เป็น  ๑๐   แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บผ้าไว้เป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว   คือจนถึงวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน   ๔

ข้อความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น   จะเห็นว่าความหมายของคำว่ากฐินมีความเกี่ยวข้องกันทั้ง  ๔   ประการเมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐิน เสร็จแล้ว   และประชุมกันอนุโมทนากฐิน   คือแสดงความพอใจว่าได้

กรานกฐินเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี

คำว่า การกรานกฐิน   คือการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจาต่อทางวัดว่าจะนำกฐินมาถวาย เมื่อนั้นเมื่อนี้แล้วแต่จะตกลงกัน  แต่จะต้องภายในเขต เวลา ๑ เดือน  ตามที่กำหนดในพระวินัย

คำว่า อปโลกน์กฐิน หมายถึง   การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่   เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่าผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด  กาปรึกษาหารือ   การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า   อปโลกน์(อ่านว่า อะ- ปะ- โหลก)  หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ยังใช้ไม่ได้   เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วจึงต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์   จึงนับเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐินดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น

ในปัจจุบันมีผู้ถวายผ้ามากขึ้นมีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้นการใช้ไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไปเพียงแต่รักษาชื่อและประเพณีไว้โดยไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบ   เพียงถวายผ้าขาวให้ตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น   หรืออีกอย่างหนึ่งนำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่าถวายผ้ากฐินเหมือนกัน   และเนื่องจากยังมีประเพณีนิยมถวายผ้ากฐินกันแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย   จึงนับว่าเป็นประเพณีนิยมในการบำเพ็ญกุศล เรื่องกฐินนี้ยังขึ้นหน้าขึ้นตาเป็นสาธารณะประโยชน์ร่วมไปกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน

ตำนาน

ครั้งพุทธกาลมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก   กฐินขันธกะว่าครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ  ๓๐  รูป   ถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวดมีความประสงค์จะเฝ้าพระพุทธเจ้า   ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถีแคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้น   พอถึงเมืองสาเกตซึ่งห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ   ๖  โยชน์ ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดีเดิน

ทางต่อไปมิได้ ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต   เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้า เป็นกำลัง   ดังนั้นพอออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทาง   แต่ระยะทางนั้นยังมีฝนตกมาก   หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำเป็นโคลนเป็นตม   ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าสมความประสงค์   พระพุทธเจ้า  จึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นถึงเรื่องการจำพรรษาอยู่   ณ  เมืองสาเกตและการเดินทาง   ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ   ความ ร้อนรนและกระวนกระวาย และการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ

พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุจึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้   และเมื่อกรานกฐินแล้ว   จะได้รับอานิสงค์บางข้อตามพระวินัยดังกล่าวต่อไป

ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐิน

ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐินมีดังต่อไปนี้

 ๑.   จำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้ ถ้ากล่าวตามหลักฐานในพระไตรปิฎก (เล่ม ๕ หน้า ๒๕๘) ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิต   กล่าวว่าสงฆ์  ๔  รูป   ทำกรรมได้ทุกอย่างเว้นการปวารณา คือการอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนได้   การอุปสมบทและการสวดถอนจากอาบัติบางประการ(อัพภาน)   จึงหมายถึงว่าจำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้จะต้องมีตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไป   แต่หนังสืออธิบายชั้นหลังที่เรียกว่าอรรกถา กล่าวว่าต้อง  ๕  รูปขึ้นไป   เมื่อหนังสืออธิบายชั้นหลังขัดแย้งกับพระไตรปิฎกจึงต้องถือพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ

 ๒.   คุณสมบัติของพระสงฆ์ที่มีสิทธิรับกฐิน   คือพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ  ๓  เดือน   ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่าจะนำพระสงฆ์วัดอื่นมาสมทบ  จะใช้ได้หรือไม่   ตอบว่าถ้าพระสงฆ์ที่จะทอดกฐินนั้น มีจำนวนครบ  ๔  รูปแล้ว   จะนำพระสงฆ์ที่อื่นมาสมทบก็สมทบได้   แต่จะอ้างสิทธิไม่ได้   ผู้มีสิทธิมีเฉพาะผู้จำพรรษาครบ   ๓  เดือน  ในวัดนั้นเท่านั้น   การนำพระภิกษุมาจากวัดอื่น คงมีสิทธิเฉพาะที่ทายกจะถวายอะไรเป็นพิเศษเท่านั้น ไม่มีสิทธิในการออกเสียงเรื่องจะถวายผ้าแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้

 ๓.   กำหนดกาลที่จะทอดกฐินได้    ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่าการทอดกฐินนั้นทำได้ภายในเวลาจำกัด คืตั้งแต่วันแรม ๑  ค่ำ  เดือน ๑๑จนถึงวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ   เดือน  ๑๒ ก่อนหน้านั้น   หรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐิน

 ๔.   ข้อควรทราบเกี่ยวกับกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ   เรื่องนี้สำคัญมากควรทราบทั้งผู้ทอดและทั้งฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับเพราะเป็นเรื่องทางพระวินัย (วินัยปิฎก   เล่ม  ๕  หน้า  ๑๓๗)  คือ มักจะมีพระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือโดยอ้อม   ด้วยวาจาบ้าง   ด้วยหนังสือบ้าง  เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน   การทำเช่นนั้นผิดพระวินัย   กฐินไม่

เป็นอันกรานนับเป็นโมฆะ   ทอดก็ไม่เป็นอันทอด   พระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงค์   จึงควรระมัดระวังทำให้ถูกต้องและแนะนำผู้เข้าใจผิดปฏิบัติผิดทำให้ถูกต้องเรียบร้อย

เทศกาลกฐิน

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน

๑.  ผลดีฝ่ายผู้ทอดและคณะ   อานิสงฆ์หรือผลดีของฝ่ายผู้ทอดและคณะมีดังนี้

(๑)   ชื่อว่าได้ถวายทานภายในกาลเวลากำหนดที่เรียกว่า กาลทาน คือในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา  ๑  เดือนเท่านั้นในข้อถวายทานตามกาลนี้มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ทานตามกาล ความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้น  ย่อมสำเร็จได้

๒)   ชื่อว่าได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่   แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม   มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ

(๓)   ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา   ส่งเสริมผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้เป็นหลัก   เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป

 (๔)   จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง  ๓   กาล คือก่อนทอด  กำลังทอดและทอดแล้วที่เลื่อมใสศรัทธาและปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต  คนที่จิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ

(๕)   การทอดกฐินทำให้เกิดสามัคคีธรรม   คือการร่วมมือกันทำคุณงามความดีและถ้าการถวานกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวา-อารามด้วย   ก็เป็นการร่วมสามัคคี   เพื่อรักษาศาสนวัตถุ   ศาสนสถานให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป

๒.   ผลดีฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐิน อานิสงค์หรือผลดีของฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐินมีดังนี้

 พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในวินัยปิฎก  เล่ม  ๕  หน้า   ๑๓๖)  ว่าภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับประโยชน์   ๕  ประการ

(๑)   รับนิมนต์ฉันไว้แล้วไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุในวัดตามความในสิกขาบทที่ ๖ แห่ง อเจลกวรรค  ปาจิตตีย์

(๒)   ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ

 (๓)   เก็บผ้าที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษไว้ได้ตามปรารถนา

(๔)   จีวรอันเกิดในที่นั้นเป็นสิทธิของภิกษุเหล่านั้น

 (๕)   ขยายเขตแห่งการทำจีวรหรือการเก็บจีวรไว้ได้จนถึงสิ้นฤดูหนาว  (คือจนถึงวันขึ้น  ๑๕   ค่ำ  เดือน  ๔ เป็นวันสุดท้าย)

แหล่งข้อมูล : หนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 

บทความแนะนำ…
เครื่องกฐินมีอะไรบ้าง ?
ธงกฐิน ความหมายใหม่ ปลื้มใจคนทำบุญ หนุนแรงใจทำความดี
7 เหตุผลที่ทำให้ บุญกฐิน มีความพิเศษ

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *